ประวัติหลักสูตร

29 มีนาคม 2566 (ผู้ดูแลระบบ) เกี่ยวกับหน่วยงาน (About Us)

              ในปัจจุบันความต้องการทางการศึกษาของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความแตกต่างจากพื้นที่ส่วนอื่นของประเทศคือ ผู้ปกครองมีความต้องการให้บุตรหลานได้รับการศึกษาเพื่อให้มีความรู้ทั้งด้านวิชาสามัญตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการและความรู้ทางด้านศาสนาอิสลามควบคู่กัน ทำให้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโรงเรียนลักษณะสองระบบเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โรงเรียนดังกล่าวเป็นที่รู้จักในนาม “โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม” โรงเรียนประเภทนี้จัดการศึกษาตามหลักสูตรวิชาสามัญและหลักสูตรวิชาอิสลามศึกษาควบคู่กัน ซึ่งการจัดการศึกษารูปแบบดังกล่าว สามารถตอบสนองตามความต้องการของประชาชนแห่งนี้เป็นอย่างดี  นอกจากนั้นยังมีสถานศึกษาอื่นๆที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรอิสลามศึกษาอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) สถานศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสถาบันปอเนาะ ดังนั้น ความต้องการในการศึกษาต่อด้านอิสลามศึกษาในระดับปริญญาตรีและระดับสูงขึ้นจึงมีความจำเป็น และปัจจุบันพบว่านักเรียนมุสลิมจำนวนหนึ่งที่จบจากสถาบันต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นได้ศึกษาต่อทางด้านอิสลามศึกษาในวิทยาลัยชุมชนในจังหวัดต่างๆในภาคใต้ และเมื่อนักศึกษาเหล่านั้นจบออกมา ได้เพียงวุฒิอนุปริญญา และนักศึกษาส่วนใหญ่เหล่านั้นอยากศึกษาต่อ เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งเมื่อได้วุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้ว สามารถต่อยอดการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ต่อไป แต่ไม่มีสถาบันใดในประเทศไทยที่รองรับนักศึกษาที่จบในระดับอนุปริญญาเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี การเปิดหลักสูตรอิสลามศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการพัฒนาให้มีคุณภาพต้องมีทิศทางในการพัฒนาที่ชัดเจน ต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสามารถบูรณาการศาสตร์สากล กับภูมิปัญญาท้องถิ่นและปรัชญาอิสลามได้อย่างเหมาะสม สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิต เป็นพลเมืองดีของสังคม มีความรู้คู่คุณธรรม

               ดังนั้นคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จึงพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอิสลามศึกษา หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2564 ขึ้นเป็นครั้งแรก การเปิดสอนหลักสูตรอิสลามศึกษาจะช่วยพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้อิสลามศึกษา มีความสามารถในการบูรณาการกับศาสตร์ต่างๆ และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ศึกษาเล่าเรียนในสาขาวิชาที่บูรณาการระหว่างความรู้ศาสนาและสามัญ      ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมสังคมมุสลิมในประเทศไทย โดยเฉพาะสังคมมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นักศึกษามีความสามารถประกอบอาชีพในด้านต่างๆ อย่างสุจริต มีคุณธรรมจริยธรรม อยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างปกติสุข

               จุดเด่นของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอิสลามศึกษา คือ นักศึกษามีความรู้ทางด้านอิสลามศึกษาและสามารถบูรณาการอิสลามศึกษากับศาสตร์สากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำความรู้และประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตและอาชีพประจำวันตลอดจนการพัฒนาชุมชนให้เกิดสันติสุข สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม สามารถนำองค์ความรู้ด้านศาสนาไปใช้ในการบริหารจัดการตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมให้ได้ตามความต้องการของท้องถิ่นที่สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลามได้อย่างแท้จริง สามารถสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ด้านอิสลามศึกษากับประเทศในกลุ่มอาเซียนและมีผลงานเป็นที่ยอมรับ