ปรัชญา

29 มีนาคม 2567 (ผู้ดูแลระบบ) เกี่ยวกับหลักสูตร

ปรัชญา ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
 

1. ปรัชญาของหลักสูตร

ผลิตครูประถมศึกษาที่ดี มีจิตวิญญาณความเป็นครู บูรณาการการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในสังคมพหุวัฒนธรรม

 

2. วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

    เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษามีคุณลักษณะ ดังนี้

    2.1 มีความรอบรู้ในศาสตร์การประถมศึกษา และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในการปฏิบัติให้สอดคล้อง
กับสภาพการณ์ปัจจุบัน

    2.2  สามารถบูรณาการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย และเหมาะสมกับผู้เรียนระดับประถมศึกษา

    2.3  สร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ประถมศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ

    2.4  มีคุณธรรม จริยธรรม จิตวิญญาณความเป็นครู  พัฒนาตนเองเป็นแบบอย่างที่ดีตามจรรยาบรรณวิชาชีพ

    2.5  มีภาวะผู้นำทางวิชาการและวิชาชีพ มีความสามารถในการคิดขั้นสูง เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง สร้างความสัมพันธ์กับชุมชนที่สอดคล้องกับบริบทสังคมพหุวัฒนธรรม                                                                  

 

3. ความสำคัญของหลักสูตร

ในโลกอันผันผวนแห่งศตวรรษที่ 21 การศึกษาที่ทรงประสิทธิภาพคือเกราะอันแข็งแกร่งที่จะช่วยให้เด็ก ๆ พร้อมรับความท้าทาย และผู้อยู่เบื้องหลังงานอันยิ่งใหญ่นี้ก็คือ “ครู” ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษาของไทยเป็นอย่างมาก คือ คุณภาพมาตรฐานของครู ปัจจุบันอาชีพครูถือว่าสำคัญยิ่ง เพราะครูมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีคุณธรรม มีความรู้ในศาสตร์ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในการนำประเทศเข้าสู่สังคมโลกในศตวรรษที่ 21  อีกทั้งยังเป็นประเด็นหลักที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 การเตรียมความพร้อมกำลังคนทั้งด้านความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นให้สามารถปรับตัว และรู้เท่าทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีพลวัต จึงเป็นความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยควรเร่งขีดความสามารรถ และการศึกษาก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ตอบโจทย์ในการสร้างคน สร้างสังคม และสร้างชาติ

การประถมศึกษาเป็นระดับการศึกษาที่กำเนิดขึ้นมาพร้อมกับประวัติการศึกษาไทยนับตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สืบเนื่องถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ.2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ขึ้น เพื่อบังคับให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อให้เด็กทุกคนรู้หนังสือ จึงทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาออกบังคับเป็นเขต ๆ ไป นับเป็นการเริ่มต้นการศึกษาภาคบังคับในระดับประถมศึกษา พระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานและสนับสนุนการประถมศึกษาอย่างดี จนได้รับการขนานพระนามว่าพระบิดาแห่งการประถมศึกษา

         สาขาวิชาการประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นสาขาที่ผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านการประถมศึกษาแห่งหนึ่ง เป็น “คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้” มายาวนาน จึงตระหนักถึงบทบาทความเป็นผู้นำด้านการผลิตครูทางวิชาการและวิชาชีพที่มีประสิทธิภาพ มีจิตวิญญาณความเป็นครู สามารถบูรณาการการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนระดับประถมศึกษา และสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนที่สอดคล้องกับบริบทสังคมพหุวัฒนธรรมได้ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างสรรค์อนาคตของชาติบ้านเมืองต่อไป